มนุษย์ดำรงชีพโดยทำตามกฎของธรรมชาติ การจะมีอายุยืนยาวห่างไกลจากโรคภัยจึงเริ่มได้ง่ายๆด้วยการทำตามวัฏจักรร่างกายในแต่ละช่วงเวลาของวันที่เราเรียกกันว่านาฬิกาชีวิต (Biological Clock) หรือนาฬิกาชีวภาพเพื่อให้เกิดความสมดุลสอดคล้องกับธรรมชาติส่งผลให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละวันร่างกายจะมีกระบวนการทำงานของอวัยวะในส่วนต่างๆตามธาตุ การละเลยไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการฝืนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่ายๆแม้ว่าจะทานอาหารเสริมชั้นยอดเข้าไป ดังนั้นหากลองทำความเข้าใจถึงกลไกเหล่านี้และลองปฏิบัติตามเชื่อว่าสุขภาพจะกลับมาแข็งแรงสมวัยแน่นอน
01.00 น. - 03.00 น. (เวลาของตับ)
• การนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงตี 1 ถึงตี 3 ถือเป็นช่วงที่ควรจะหลับสนิทเพื่อให้ตับทำหน้าที่ขับของเสีย ผลิตน้ำดีและอินซูลินออกมาสำรองเอาไว้ หากเวลานี้ร่างกายไม่พักผ่อนหรือยังกินอาหารเข้าไปจะทำให้ตับและตับอ่อนต้องทำงานหนักซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆรับรองว่า เบาหวาน ความดันและโรคหัวใจมาเยือนแน่นอน
03.00 น. - 05.00 น. (เวลาของปอด)
• เวลาที่ดีที่สุดที่จะตื่นขึ้นมายืดเส้นยืดสายหรือออกกำลังกายเบาๆ ช่วงนี้ปอดจะทำงานโดยฟอกของเสียออกมาทางระบบหายใจ ผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจจึงมักจะมีอาการไอหรือจามในช่วงเวลานี้ ดังนั้นการตื่นขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปจึงช่วยให้สมองได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอและยังส่งผลดีต่อผิวพรรณด้วย
05.00 น. - 07.00 น. (เวลาของลำไส้ใหญ่)
• หลังจากยืดเส้นยืดสายจนเข้าที่เข้าทางก็ถึงเวลาของระบบขับถ่ายที่เริ่มทำงานโดยการขับกากอาหารออกมา ผู้ที่มีอาการท้องผูกจึงควรฝึกให้ร่างกายขับถ่ายในช่วงเวลานี้เป็นประจำโดยอาจใช้การดื่มน้ำอุ่นเพื่อกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ง่ายขึ้น
07.00 น. - 09.00 น. (เวลาของกระเพาะอาหาร)
• อาหารมื้อเช้าเป็นมื้ออาหารที่มีสำคัญที่สุดของวัน การทานอาหารที่มีประโยชน์หลังจากมีการขับของเสียในระบบขับถ่ายไปจนหมดจึงช่วยให้ร่างกายดูดซับสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้ดี ในช่วงนี้กระเพาะจะมีความพร้อมที่สุดทำให้ย่อยอาหารได้ดีจึงไม่เหลือไปเก็บเป็นไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่างๆที่ไม่พึงประสงค์
09.00 น. - 11.00 น. (เวลาของม้าม)
• ช่วงนี้ไม่ควรจะทานอะไรเข้าไปอีกเพื่อให้ร่างกายได้ทำการย่อย ม้ามจะทำหน้าที่เก็บพลังงานสำรองและกำจัดเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพ ช่วงเวลานี้ร่างกายจึงตื่นตัวเหมาะแก่การทำกิจกรรมมากที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการนอนหรืองีบหลับในช่วงนี้เพราะจะทำให้ม้ามอ่อนแอลงได้ง่ายๆ
11.00 น. - 13.00 น. (เวลาของหัวใจ)
• เช้าสู่มื้อกลางวันที่ควรลดระดับลงจากมื้อเช้า หัวใจจะทำการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายทำเกิดความให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ช่วงนี้หัวใจจะทำงานมากกว่าปกติจึงควรหลีกเลี่ยงความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าโดยเฉพาะในรายของผู้ที่มีปัญหาเรื่องหัวใจและความดันยิ่งต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
13.00 น. - 15.00 น. (เวลาของลำไส้เล็ก)
• ช่วงเวลาแห่งการย่อยอาหารเต็มรูปแบบ ลำไส้เล็กจะทำการย่อยและดูดซึมสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ดังนั้นช่วง 2 ชั่วโมงนี้จึงควรงดอาหารอย่างเด็ดขาด การทานอาหารในช่วงนี้จึงทำให้เกิดปัญหาในระบบย่อยซึ่งหากยังเป็นแบบนี้ต่อไปก็จะทำให้ลำไส้เล็กเกิดอาการบวมและส่งผลถึงการทำงานสมองด้วย
15.00 น. - 17.00 น. (เวลาของกระเพาะปัสสาวะ)
• ของเสียที่ผ่านการดูดซึมจากลำไส้เล็กจะถูกส่งมายังกระเพาะปัสสาวะเพื่อทำการขับถ่ายออกไป หากรู้สึกอยากจะปัสสาวะก็ไม่ควรอั้นเอาไว้เพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบและซึมเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลต่อดวงตา อีกอย่างคือช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อแข็งแรงมากจึงเหมาะแก่การออกกำลังกายหนักๆ
17.00 น - 19.00 น. (เวลาของไต)
• แม้จะเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวันแต่ช่วงเวลานี้ไม่ควรนอนอย่างเด็ดขาดเพราะจะทำให้ไตต้องทำงานหนัก แต่ควรหากิจกรรมเบาๆทำ ช่วงนี้ไตจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะหลายส่วนโดยเฉพาะการขับกรองของเสียออกจากเลือดจึงควรจะดื่มน้ำให้มากๆเพื่อช่วยในการกรองแต่ไม่ควรเป็นน้ำเย็น
19.00 น. - 21.00 น. (เวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ)
• เข้าสู่ช่วงเวลาของการหยุดนิ่งจากกิจกรรมหนักๆและเตรียมตัวเข้านอน ช่วงเวลานี้อุณหภูมิในร่างกายจะสูงที่สุดในรอบวันร่างกายจึงควรได้รับการผ่อนคลายโดยเฉพาะในเรื่องของการทำสมาธิและกระบวนการคิด หากยังไม่พักผ่อนจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจหนักจนเกิดภาวะหัวใจโต เหล่านักท่องราตรีทั้งหลายจึงควรระวังให้ดี
21.00 น. - 23.00 น. (เวลาของทุกระบบ)
• ช่วงนี้ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายจะทำงานผสานกันเพื่อปรับสมดุล ข้อห้ามสำคัญคือช่วงนี้ไม่ควรอาบน้ำเพราะจะทำให้ป่วยได้ง่ายและไม่ควรออกไปสูดอากาศภายนอกเพราะอากาศจะเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซน์ออกมา การนอนหลับพักผ่อนช่วงนี้จึงถือว่าดีที่สุดและอย่าลืมทำให้ร่างกายอบอุ่น
23.00 น. - 01.00 น. (เวลาของถุงน้ำดี)
• ช่วงเวลานี้ถุงน้ำดีจะทำการกักเก็บน้ำจากตับเพื่อมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก หากถุงน้ำดีข้นอาจส่งผลให้เหงือกบวมและนอนไม่หลับจนอาจกระทบไปถึงตับได้ การดื่มน้ำก่อนนอนจึงช่วยให้ถุงน้ำดีทำงานได้ดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นแม้ว่าการดื่มน้ำก่อนเข้านอนจะเป็นเรื่องง่ายและดีต่อร่างกายแต่หลายคนกลับเลือกที่จะมองข้ามไป